วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พะยูน

พะยูน (หมูน้ำ / ปลาดูหยง)

ชื่อสามัญ : Dugong (Sea Cow)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dugong dugon
ลักษณะทั่วไป : พะยูนถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2319 โดยได้ตัวอย่างแบบที่จับได้จากน่านน้ำแหลมกู๊ดโฮบถึงฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายปลาวาฬ เดิมพะยูนจึงถูกจัดรวมอยู่ในอันดับเดียวกันคือ Cetacea แต่จากการศึกษาลักษณะโครงสร้างโดยละเอียดพบว่าแตกต่างกันมาก ขนาดเล็กกว่า หัวกลม รูจมูกแยกจากกัน ปากเล็ก มีฟันหน้าและฟันกรามพัฒนาดี ไม่เป็นฟันยอดแหลมธรรมดาเหมือน ๆ กันอย่างปลาวาฬ และมีเส้นขนที่ริมฝีปากตลอดชีวิต จึงมีการจำแนกออกตั้งเป็นอันดับใหม่ คือ Sirenia >> จากการศึกษาสายวิวัฒนาการของพะยูน พบว่ามีความใกล้ชิดกับพวกช้างมากกว่าปลาวาฬ และต้นบรรพบุรุษของพะยูน ตั้งแต่ครั้งยุค Eocene ยังเป็นสัตว์บกมี 4 เท้า แต่เท้าคู่หลังลดขนาดเล็กลงกว่าเท้าคู่หน้ามาก วิวัฒนาการต่อ ๆ มา เท้าหลังจึงหดหายไป และพัฒนารูปร่างมาเป็นอย่างปัจจุบัน กลายเป็นสัตว์อย่างสมบูรณ์ >> ลักษณะเด่นของพะยูน คือ เป็นสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกับโลมาและปลาวาฬ แตกต่างกันที่พะยูนไม่มีครีบหลัง แต่มีครีบหางซึ่งแผ่แบนแยกเป็นสองแฉกคล้ายหางปลาในแนวราบและไม่มีแกนกระดูกเช่นเดียวกัน ขณะว่ายน้ำครีบหางนี้จะพัดโบกขึ้น - ลง ไม่เหมือนกับการพัดโบกไปมาในแนวตั้งอย่างครีบอกของปลา ขาคู่หน้าแต่ละข้างมีนิ้ว 5 นิ้ว พัฒนารูปร่างเรียง ติดกันเป็นใบพายคล้ายครีบอกของปลา ที่ปลายนิ้วแต่ละนิ้วของพะยูนจะไม่มีเล็บ ซึ่งต่างจากมานาตี หรือ พะยูนแถบทวีปอเมริกา ขาหลังลดรูปหายไป ส่วนหัวกลมมน มีปากอยู่ด้านล่างของหัว ริมฝีปากบนหนา มีขนหนวดขึ้นประปราย เมื่อโตเต็มที่ พะยูนตัวผู้จะมีเขี้ยวยาว 1 คู่ ที่บริเวณขากรรไกรบน ลักษณะคล้ายงาช้างยื่นลงมาชัดเจน ขนาดตัวของพะยูน มีความยาวรวมครีบหางประมาณ 2.2-3.5 เมตร ขนาดของ ครีบหางกว้าง ประมาณ 0.75-0.85 เมตร ขนาดวัดรอบอกประมาณ 1.6-2.5 เมตร ครีบอกหรือขาหน้ายาวประมาณ 0.35-0.45 เมตร น้ำหนักตัวประมาณ 280-380 กิโลกรัม

นิสัย : พะยูนเป็นสัตว์น้ำที่หายใจด้วยปอด ปกติดำน้ำได้ไม่ลึกและอยู่ใต้น้ำไม่นานอย่างปลาโลมาและปลาวาฬ ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำเสมอ ๆ ช่วงกลางวันมักชอบอาศัยอยู่บริเวณทะเลลึก ถึงตอนกลางคืนจึงจะเข้ามาอยู่ตามชายฝั่งน้ำตื้น เพื่อหากินหญ้าทะเล ซึ่งเป็นพวกพืชสีเขียวที่ขึ้นอยู่ตามหาดโคลนน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง ลักษณะการแทะเล็มหญ้าทะเลของพะยูนดูคล้ายการกินหญ้าของวัว ทำให้ได้ชื่อเรียกภาษาอังกฤษ อีกชื่อว่าวัวทะเล (Sea Cow) มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นครอบครัว หรืออาจหากินรวมกันเป็นฝูงใหญ่ได้

อาศัย : พบอาศัยอยู่ตามฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกีนี และตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยเคยมีพะยูนอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้านของประเทศมีแหล่งมาอยู่สำคัญคือบริเวณชายฝั่งทะเล อุทยานแห่งชาติหาด เจ้าไหม และเกาะลิบง จังหวัดตรัง คาดว่ายังมีพะยูนเหลืออยู่

อาหาร : กินแต่หญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก

การสืบพันธุ์ : ระยะตั้งท้องนานประมาณ 1 ปี ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว ออกลูกใต้น้ำ ลูกพะยูน แรกเกิดจะต้องรีบโผล่ขึ้นหายใจเหนือน้ำทันที ต่อจากนั้นจะว่ายน้ำติดตามกินนมแม่ ซึ่งมีเต้านมอยู่ใต้ครีบอก ประมาณ 1 ปี จึงจะหย่านม ในช่วงที่ลูกพะยูนยังเล็กอยู่ แม่พะยูนจะ ป้องก้นอันตรายจากศัตรูโดยใช้ครีบอกประคองลูกอยู่ข้างตัว ทำให้ผู้พบเห็นมองดูเหมือน แม่อุ้มลูกไว้แนบอก จึงเรียกชื่อกันว่า “เงือก” อีกชื่อหนึ่ง พะยูนจะโตเต็มที่อายุประมาณ 13-14 ปี อายุยืนประมาณ 40 ปี

สถานภาพ : ปัจจุบันจำนวนประชากรของพะยูนในถิ่นกำเนิดทุกแห่งลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว จนน่าวิตกว่าจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้เนื่องจากการล่า เพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหาร หรือหลงติดอวนจับปลาของชาวประมงจนเสียชีวิต และความเชื่อที่ว่าน้ำมันพะยูนใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยได้ ประกอบกับพะยูนแพร่พันธุ์ได้ช้า และนิสัยการกินอาหารของพะยูนที่เลือกกินแต่หญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก ซึ่งปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเลถูกทำลายลดน้อยลงจากมลพิษต่างๆ ที่ถูกปล่อยทิ้งลงสู่ทะเล ส่งผลให้พะยูนหาอาหารได้ยาก และเสี่ยงอันตราย จากสารพิษตกค้างทั้งในน้ำทะเล และที่สะสมในหญ้าทะเล พะยูนจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น